Newsคุณสมบัติของฉนวน

ความรู้เรื่องฉนวนกันความร้อน

ความรู้ฉนวน

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นและมีฝนตกชุก โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกือบตลอดทั้งปี ปัญหาอย่างหนึ่งของการออกแบบอาคาร คือการลดปริมาณความร้อนเท่าที่เทคโนโลยีในปัจจุบันจะเอื้ออำนวยได้ ซึ่งในการพิจารณาเรื่องความสามารถในการกันความร้อนของระบบหลังคา ต้องอาศัยความเข้าใจถึงระบบการถ่ายเทอากาศ สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือการระบายอากาศใต้หลังคาส่วนบนสุดเนื่องจาก เป็นบริเวณที่รับแสงอาทิตย์โดยตรง และจะต้องมีระบบฉนวนเพื่อป้องกันความร้อนไม่ให้เข้ามาภายในตัวอาคาร การติดตั้งฉนวนกันความร้อนจึงนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ฉนวนความร้อนทั่วไปสามารถแบ่งตามโครงสร้างหลักใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิด คือ แบบเส้นใย ได้แก่ใยแก้ว(Glass Wool) และใยหิน(Rock wool) ซึ่งฉนวนประเภทนี้ใช้โครงสร้างของเส้นใยที่เชื่่อมต่อกันเป็นโพรงอากาศและ ใช้ความหนาในการหน่วงอุณหภูมิความร้อน ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือแบบเซลล์ ได้แก่ โฟมฉีด (Polyurethane) และเยื้อกระดาษ (Cellulose)  ซึ่งฉนวนประเภทนี้ใช้ความหนาในการหน่วงอุณหภูมิความร้อนเช่นกัน โดยตัวเนื้อฉนวนมีโพรงอากาศที่เชื่อมผ่านถึงกันได้ แต่ผิวหน้าจะทำให้เป็นแบบเซลล์ปิด ฉนวนประเภทนี้จึงมีลักษณะทั้งเซลล์กึ่งเปิดกึ่งปิด (Semi Closed Cells) ส่วนพีอีโฟม (Polyethylene Foam / PE FOAM) เป็นชนิดเดียวที่มีโครงสร้างแบบเซลล์ปิด โดยไม่ยอมให้ไอน้ำไหลผ่านหรือเข้ามาสะสมในเนื้อฉนวน จึงไม่ทำให้ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คงประสิทธิภาพตลอดจนอายุการใช้งาน

หลักในการเลือกใช้ฉนวนที่สำคัญควรพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน (K-value) โดยทั่วไปจะแสดงอยู่ในหน่วย W/m-kและค่าการต้านทานความร้อน (R-value) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากความหนาของฉนวนหารด้วยค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน ซึ่งฉนวนกันความร้อนที่ดีจะต้องมีค่าสัมประสิทธิการนำความร้อนต่ำ และค่าการต้านทานความร้อนสูง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงช่วงอุณหภูมิในการใช้งาน ลักษณะการติดตั้ง และงบประมาณที่มีอยู่ด้วย

การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อน

1) มีความสามารถในการกันความร้อนได้ดี

2) มีความสวยงามและทนทานต่อการขยายตัวและหดตัวได้ดี

3) กันน้ำได้ดี , ไม่ดูด หรืออมความชื้น

4) น้ำหนักเบา , ทำงานง่าย ,ราคาประหยัด

5) ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.